จังหวัดสมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่มีโรงงานตั้งอยู่มากกว่า 6,900 แห่ง ดังคำขวัญของจังหวัดที่ว่า“เมืองประมง ดงโรงงาน ลานเกษตร เขตประวัติศาสตร์” ทำให้มีความต้องการแรงงานจำนวนมากโดยเฉพาะในกิจการประมงและผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปประมง โดยปัจจุบันใช้แรงงานต่างด้าวทำงานในกิจการต่าง ๆ จำนวน 334,295 คน จัดเป็นลำดับที่ 2 ของประเทศรองจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าแรงงานไทยในจังหวัดถึงร้อยละ 20.42 จำแนกได้เป็นแรงงานสัญชาติเมียนมา 300,363 คน กัมพูชา 13,644 คน ลาว 9,792 คน และในจำนวนนี้เป็นแรงงานเรือประมง 2,005 คน
การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของจังหวัดสมุทรสาคร มีความครอบคลุมในทุกด้าน โดยดำเนินการแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามคำสั่งจังหวัดสมุทรสาครที่ 1065/2560 ลงวันที่ 24 เมษายน 2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวแบบบูรณาการในจังหวัดสมุทรสาคร และคำสั่งจังหวัดสมุทรสาครที่ 1627/2565 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2565 เรื่อง แต่งตั้งชุดปฏิบัติการป้องกันแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจังหวัดสมุทรสาคร
โดยในปีงบประมาณ 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 15 กุมภาพันธ์ 2567 ได้ออกตรวจสอบนายจ้าง/สถานประกอบการรวม 1,147 แห่ง แรงงานต่างด้าวรวม 30,609 คน (แรงงานเมียนมา 28,143 คน แรงงานกัมพูชา 942 คน แรงงาน สปป.ลาว 210 คน และแรงงานสัญชาติอื่นๆ 1,314 คน)
จากการตรวจสอบดังกล่าว พบการกระทำผิดที่นำไปสู่การดำเนินคดีกับนายจ้าง/สถานประกอบการ จำนวน 17 แห่ง ซึ่งมีแรงงานต่างด้าว จำนวน 75 คน เป็นแรงงานเมียนมามากที่สุด 63 คน แรงงานกัมพูชา 2 คน แรงงาน สปป.ลาว 3 คน และแรงงานสัญชาติอื่น ๆ 7 คน
ในด้านการคุ้มครองดูแลสิทธิประโยชน์ของแรงงานต่างด้าว ได้ดำเนินการตรวจสอบสภาพการจ้างให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย และการดูแลสิทธิประโยชน์ ตาม พรบ. ประกันสังคม 2533 ทั้งนี้ มีแรงงานต่างด้าวที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมจำนวน 201,590 คน จ่ายสิทธิประโยชน์แล้วจำนวน 7,189 คน ส่วนใหญ่เป็นกรณีสงเคราะห์บุตร 6,636 คน รองลงมาเป็นกรณีคลอดบุตร 424 คน
นอกจากนี้ จังหวัดสมุทรสาคร ยังได้ดำเนินโครงการร่วมกับภาคเอกชน ได้แก่โครงการเรือประมงสีขาว ซึ่งมีเรือประมงเข้าร่วม 23 ลำ ผ่านการตรวจสอบแล้ว 9 ลำ และครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานเรือประมงตกน้ำจังหวัดสมุทรสาคร ที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2567 นี้ด้วย
ทั้งมีปัญหาแรงงานต่างด้าวที่พบ ได้แก่
- พบคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากงานที่อนุญาต เช่น ขายสินค้าเร่ เปิดแผงขายสินค้า งานตัดผม/เสริมสวย รถจักรยานยนต์รับจ้าง ซ่อมรถจักรยานยนต์ เป็นต้น
- การมีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก ก่อให้เกิดพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จึงต้องมีมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด
- มีสาย/นายหน้าสัญชาติเดียวกันมีพฤติกรรมเรียกรับผลประโยชน์จากการทำงาน การหางาน และการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของคนต่างด้าว
ข้อเสนอแนะ จากปัญหาข้างต้นมีดังนี้
- การสร้างเครือข่ายสอดส่อง เช่น ประชาชน/ อาสาสมัครแรงงานในพื้นที่ ให้สอดส่องพฤติกรรมของคนต่างด้าวที่กระทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และแจ้งหน่วยงานเพื่อบูรณาการดำเนินการตามกฎ/ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการป้องปรามอย่างต่อเนื่อง
- การจัดตั้งตัวแทนคนต่างด้าวในแต่ละชุมชน/สถานประกอบการ เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างภาครัฐกับแรงงานในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ
- ควรเพิ่มจำนวนล่ามให้เพียงพอต่อการให้บริการ และการออกตรวจสถานประกอบการเพื่อป้องกันการบังคับใช้แรงงาน และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน